ชื่อ |
ปอบิด |
ชื่อวิยาศาสตร์ | Helicteres isora L. |
ชื่อวงศ์ | STERCULIACEAE |
ชื่อเรียกอื่น | มะปิด ปอทับ ช้อ ขี้อ้นใหญ่ |
ลักษณะ | ไม้พุ่ม สูง 1-3 เมตร. ทุกส่วนมีขนรูปดาว ใบ เดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ กว้าง 6-18 ซม. ยาว 8-20 ซม. ปลายใบเป็นติ่งแหลม 3-5 ติ่ง ดอก ออกเป็นช่อที่ซอกใบ กลีบดอกสีส้มอมแดง รูปใบหอกกลับ ยาว 2.5-3.0 ซม. ผล แบบแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้าง 1 ซม. ยาว 4-5 ซม. เมื่อแตกจะบิดเป็นเกลียว |
การกระจายพันธุ์ | ประเทศอินเดีย จีนตอนใต้ เวียดนาม กัมพูชา คาบสมุทรมลายู หมู่เกาะในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศไทย พบในป่าเต็งรัง ที่ระดับความสูง 100 - 400 ม. จากระดับน้ำทะเล |
ประโยชน์ | ผลสุก กินเป็นยาระบาย บำรุงกำลัง ผล ตำพอก แก้ปวด เคล็ด ขัด บวม และเป็นยาสมานแผล |
แหล่งข้อมูล | พืชสมุนไพร เล่ม 2 |
จำหน่ายปลีก-ส่งปอกะบิด สั่งทั่วไทยหรือจัดส่งนอก (ติดต่อ มด 083-0698062 / ตี๋ 0864180910)
วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557
ปอบิด (ปอกะบิด)
“ปอกะบิด มีคุณและโทษกับร่างกายอย่างไร”
ปอบิด
“ปอกะบิด มีคุณและโทษกับร่างกายอย่างไร”
เป็นอีกคำถามหนึ่งที่มีการถามเข้ามาบ่อยๆ ในช่วงนี้ ความคุ้นเคยกับต้นไม้ของเด็กชนบทที่กำลังเดินเท้าเปล่าไปโรงเรียนก็แว่บเข้ามาในความคิด ต้นไม้ที่มีลูกบิดเป็นเกลียวคล้ายเกลียวเชือกมีให้เห็นทั่วไปอยู่ตามข้างทางในบริเวณของพื้นที่ป่าชุมชน ที่ย่าเคยบอกให้เก็บมาให้หลังเลิกเรียนเพื่อนำมาต้มน้ำดื่มหลังจากทำงานในไร่นา ย่าบอกว่าปอบิดแก้อาการปวดเมื่อย แก้เคล็ด ขัด ยอก บวม และแก้ปวดบิดปวดเบ่ง ปวดท้องเวลากินของผิดสำแดง ท้องอืดถ่ายไม่ออก ถือเป็นวิธีการสอนเรื่องสมุนไพรอีกแบบที่ตอนเป็นเด็กผมไม่ค่อยได้สนใจนัก แต่ตอนโตกลับมานั่งนึกเสียดายที่สนใจใส่ใจน้อยเกินไปเรื่องภูมิปัญญา
ปอบิด หรือปอกะบิด ที่เรียกกันอีกหลายชื่อ เช่น มะบิด ปอทับ ช้อ ข้าวจี่ หั่วลั่งหมา เป็นวัชพืช แตกกิ่งเหนือดินเป็นพุ่มมีอายุหลายปี ใบสากค่อนข้างกลมคล้ายบาตรคว่ำ ขอบใบหยักฟันเลื่อย ทุกส่วนของปอบิดมีขนกำมะหยี่สั้นปกคลุม ดอกออกที่ซอกใบเป็นลักษณะหลอด ปลายกลีบดอกแยกออกเป็น 3-5 กลีบค่อยๆ เปลี่ยนสีจนเป็นสีออกแดง ปอบิดเป็นที่รู้จักของชาวอินเดีย เพราะถูกใช้เป็นยารักษามาตั้งแต่สมัยโบราณ ผลมีฤทธิ์ฝาดสมาน ใช้สำหรับรักษาอาการแน่นท้องและท้องเสีย แก้ร้อนใน ขับลมในเด็ก รักษาแผล รากและเปลือกต้น ใช้เป็นยาแก้ไอ ขับเสมหะ และใช้บรรเทาอาการปวดท้อง รักษาโรคกระเพาะ ท้องเสีย โรคบิด โรคหิด เบาหวาน
หมอยาพื้นบ้านท่านว่า ปอบิดช่วยขับมูก เมือกจากบิดในลำไส้ได้ หมอพื้นบ้านจึงไม่ให้รับประทานนานๆ เพราะจะทำให้เสาะท้อง ปริมาณการใช้ทั่วไปที่แนะนำ ปอบิดใช้ส่วนที่เปลือกต้น ราก ต้มน้ำดื่มเพื่อบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้ท้องอืด ขับลมในท้อง แก้ปวดเมื่อยทั่วไป ส่วนผล ใช้แก้อาการทางลำไส้อักเสบ แก้บิดปวดเบ่ง หรือใช้ตำพอกแก้ปวดจากแมลงกัดต่อย เคล็ดยอก ขัด บวม และอัตราการใช้ตามสัดส่วน เปลือกต้น รากใช้ 1 กำมือต่อน้ำ 1 ลิตร และผลใช้ 3-5 ผล ต่อน้ำ 250 ซีซี ต้มเดือด 20 นาที หรือเหลือน้ำครึ่งหนึ่ง ทานหลังอาหาร 3 มื้อ/วัน หรือเฉพาะมีอาการ
ในปัจจุบันมีรายงานการวิจัยในสัตว์ทดลองว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ในคนที่เป็นเบาหวาน ลดไขมันในเลือด อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมาก และยังมีรายงานว่ามีฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษและฟื้นฟูตับจากสารพิษ ช่วยต้านเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด รวมถึงเชื้อแบคทีเรียในกลุ่มที่ก่อให้เกิดโรคบิดได้ สอดคล้องกับข้อมูลพื้นบ้านที่ว่าปอบิดช่วยขับมูก ขับเมือกบิดในลำไส้ แต่หมอพื้นบ้านที่ใช้ปอบิดรักษาอาการท้องเสียนั้นไม่แนะนำให้กินนาน เพราะจะทำให้เสาะท้อง
อย่างไรก็ตามการใช้ปอบิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัย และผลการลดน้ำตาลในเลือกและลดไขมันก็เป็นผลในสัตว์ทดลอง การใช้ในคนจึงอาจให้ผลแตกต่างไปบ้าง และข้อควรระวังที่สำคัญของปอบิดคืออาการน้ำตาลในเลือดต่ำกรณีใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน และอาจต้องระวังในผู้ที่ใช้ยารักษาโรคหัวใจ digoxin เพราะมีรายงานว่าปอบิดมีผลเพิ่มแรงบีบหัวใจจึงอาจไปเสริมฤทธิ์ยานี้ได้
แหล่งอ้างอิง
- Muthu Kumar et al. Antioxidant and anticancer activity of Helicteres isora dried fruit solvent extracts. J. Acad. Indus. Res. Vol. 1(3) August 2012.
- Sabale Pramod M et al. Recent advances on the phytochemical and pharmacological profile of plant Helicteres isora Linn. International Research Journal of Pharmacy 2012, 3(4)
ผู้เขียน : ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ และนายพิทักษ์ ตีเหล็ก
เครดิตเว็บไซต์ : http://www.abhaiherb.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)